สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง
(อายุตั้งแต่ คริสตศตวรรษที่ 5 - คริสตศตวรรษที่ 16 ) สิ่งมหัศจรรย์ของโลกสมัยกลาง ถูกจัดขึ้นมาและเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย ต่อมาหลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกสมัยโบราณแทบทั้งหมด ยกเว้นพีระมิดล้วนแต่เสื่อมโทรมเสื่อมสลายไปหมดสิ้น เหลือเพียงร่องรอยหลักฐาน หรือแบบจำลองเท่านั้น สิ่งมหัศจรรย์ของโลกสมัยกลาง ล้วนแต่ยังดำรงอยู่เป็นหลักฐานให้ศึกษากันในปัจจุบัน ถึงแม้จะเสื่อมโทรมไปบ้างตามกาลเวลา สำหรับคำว่า สมัยกลาง ของ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกสมัยกลาง มีความหมายเพียงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคถัดมาจากยุคโบราณเท่านั้น
1.หอเอนเมืองปีซา ประเทศอิตาลี (The Leaning Tower of Pisa)
หอเอนเมืองปีซา ตั้งอยู่ที่เมืองปีซา ประเทศอิตาลี เป็นหอทรงกระบอก 8 ชั้น สร้างด้วยหินอ่อนสูง 181 ฟุต เริ่มสร้างเมื่อค.ศ. 1174 แต่การก่อสร้างต้องหยุดชะงักลงเมื่อก่อสร้างไปได้ประมาณ 4-5 ชั้น เนื่องจากพื้นดินใต้อาคารเริ่มยุบลงจากการที่รากฐานของอาคารไม่มั่นคงพอ อย่างไรก็ตามต่อมาได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยเมื่อปีค.ศ. 1350 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนของโครงสร้างด้านบนไปจากแผนผังเดิมเพื่อถ่วงดุลกับการเอียงของหอ โดยรวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 176 ปี แต่ตัวหอก็ยังเอนไปจากแนวตั้งฉากถึง 14 ฟุตปัจจุบันนี้ได้ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมข้างบนแล้ว เนื่องจากว่าหอจะเอนลงเรื่อยๆ ซึ่งบรรดาวิศวกรกำลังหาทางที่จะหยุดยั้งการเอนและอนุรักษ์ให้มีสภาพเอียงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชมไปอีกนานๆ สำหรับหอเอนปิซานี้ภายในมีเสาหินอ่อนที่สลักลวดลายด้วยฝีมือจิตรกรชื่อดังแห่งยุคได้สลักลวดลายไว้สวยงามมาก ณ ที่หอเอนปิซาแห่งนี้เป็นที่ที่กาลิเลโอขึ้นไปทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลก
2. สนามกีฬาโคลอสเซียมในกรุงโรมของอิตาลี (The colosseum of Rome)
สนามกีฬาแห่งกรุงโรม เป็นสนามกีฬากลางแจ้งขนาดใหญ่ที่เริ่มสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเวสปาเซียนแห่งอาณาจักรโรมัน และสร้างเสร็จในสมัยของจักรพรรดิติตัส (Titus) ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือ ประมาณปี ค.ศ. 80 อัฒจันทร์เป็นรูปวงกลมก่อด้วยอิฐและหินทรายวัดโดยรอบได้ประมาณ 527 เมตร สูง 57 เมตร สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 50,000 คน ใต้อัฒจรรย์มีห้องใต้ดินที่สร้างขึ้นเพื่อขังสิงโตและนักโทษประหาร ก่อนปล่อยให้ออกมาต่อสู้กันกลางสนาม นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประลองฝีมือของเหล่าอัศวินในยุคนั้น ปัจจุบันยังคงเหลือโครงสร้างเกือบสมบูรณ์ตั้งเด่นเป็นโบราณสถานที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก
3.กำแพงเมืองจีน ประเทศจีน (The Great Wall of China)
กำแพงเมืองจีนสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 332 - 339 โดยจิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นกำแพงอิฐที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งยาวประมาณ 2400 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการรุกรานจากชาวตาตาร์ กำแพงสร้างด้วยดิน หิน และก่ออิฐโดยรอบ มีการสร้างป้อมปราการประมาณ 15,000 แห่ง มีฐานกว้างประมาณ 20 ฟุต ทางเดินกว้างประมาณ 12 ฟุต สูงประมาณ 25 ฟุต มีระฆังบอกเหตุประมาณ 20,000 หอ ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 10 ปี โดยแรงงานของประชาชนนับล้านคนและมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการสร้างประมาณหมื่นคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอสมควร ปัจจุบันกำแพงเมืองจีนได้รับการบูรณะซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุดเสียหาย ซึ่งทำให้กำแพงเมืองจีนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสภาพสมบูรณ์สวยงาม
4.กองหินประหลาดสโตนเฮนจ์ เมือง ซัลลิสเบอรี่ ประเทศอังกฤษ (Stonehenge)
กองหินประหลาดสโตนเฮนจ์ มีอายุประมาณปลายยุคหินถึงต้นยุคบรอนซ์ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบซาลิสเบอรี ด้านเหนือของเมืองซาลิสเบอรี ในมณฑลวิลไซร์ ห่างจากกรุงลอนดอนไป 10 ไมล์ ประเทศอังกฤษ ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้นำมาวางไว้ และนำมาวางไว้เพื่อจุดประสงค์ใด นักวิทยาศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่าสร้างมาเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของมนุษย์ยุคนั้น กองหินประหลาดสโตนเฮนจ์ประกอบไปด้วยก้อนหินทรงสูงขนาดใหญ่จำนวน 112 ก้อนวางตั้งเรียงเป็นรูปวงกลมซ้อนกันสามวง บางก้อนล้มนอน บางก้อนวางทับซ้อนอยู่บนยอด วงหินรอบนอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 100 ฟุต มีน้ำหนักเป็นตันๆ บริเวณที่ราบซาลิสเบอรีเป็นทุ่งโล่ง ไม่มีภูเขา และไม่ปรากฏว่ามีก้อนหินอยู่ในบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2507 เจอรัลด์ เอส เฮากินส์ นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันได้สันนิษฐานว่า เป็นสถานที่สำหรับทำนายตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่สัมพันธ์กับการเกิดฤดูกาลบนพื้นโลก คือเป็นปฏิทินที่สร้างขึ้นมาอย่างหยาบๆนั่นเอง
5.สุสานแห่งอเล็กซานเดรีย (คาตาโคมป์) เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ (The Catacombs of Alexandria)
สุสานแห่งอเล็กซานเดรีย มีชื่อเรียกว่า คาตาโกมบ์ ตั้งอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ เป็นสุสานฝังศพใต้ดินของกษัตริย์อียิปต์โบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง เป็นสุสานของใคร และสร้างเมื่อใด ลักษณะของสุสานไม่เหมือนกับปีรามิดคือจัดสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดินขุดลึกเข้าไปในภูเขาหินทราย ทำเป็นชั้นๆ และมีช่องทางเดินกว้างประมาณ 3-4 ฟุตวกเวียนไปมาเป็นระยะทางหลายไมล์ภายในอุโมงค์บางตอนตกแต่งอย่างสวยงาม ที่บรรจุดพระศพคือผนังอุโมงค์ที่เจาะเป็นช่องลึกเข้าไป มีแท่นบูชาวางด้วยตะเกียงดวงเล็กๆแขวนไหว้ด้านหน้า ปัจจุบันสุสานแห่งอเล็กซานเดรียได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง
6. สุเหร่าเซนต์โซเฟีย เมืองคอนสแตนดิโนเปิล ประเทศตุรกี (The Mosgue of Hagia Sophia)
สุเหร่าโซเฟีย เป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะกรรมกรีกและเปอร์เชีย หรือเรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบไบเซนไทน์ (Byzantine) สุเหร่าโซเฟียมีจุดเด่นอยู่ที่ยอดโดมกลางวิหาร การประดับประดากระจกหลายสีที่บริเวณเหนือหน้าต่างประตู และเสาสลักตามแบบไปเซนไทน์ถึง 108 ต้นภายในตัววิหาร สุเหร่าโซเฟียสร้างขึ้นมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 13โดยจักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งอาณาจักรโรมันตะวันออก ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 17 ปี เดิมเป็นโบสถ์ของคริสต์ศาสนา ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล ประเทศตุรกี แต่กลับถูกชนชาติเติร์กบุกทำลาย ต่อมาในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน ได้สร้างขึ้นมาใหม่อย่างวิจิตรงดงามด้วยเครื่องประดับตกแต่งที่มีค่าต่างๆ โดยใช้เวลาในการสร้างนานถึงประมาณ 20 ปี แต่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นทำให้แตกร้าวเสียหาย ซึ่งได้รับการซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพเดิมในเวลาต่อมา พอหลังจากสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียน พระเจ้าโมฮัมเหม็ดที่ 2 ซึ่งทรงนับถือศาสนาอิสลามได้เข้ามามีอำนาจเหนือตุรกี ได้ดัดแปลงให้โบสถ์กลายเป็นสุเหร่าที่มีความงามทางสถาปัตยกรรมอีกแบบหนึ่ง
7.เจดียกระเบื้องเคลือบเมืองนานกิง ประเทศจีน (The Porcelain Tower of Nanking)
เจดีย์กระเบื้องเคลือบนานกิง ตั้งอยู่ที่เมืองนานกิงที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีน สร้างขึ้นในสมัยของราชวงศ์เหม็ง เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตัวเจดีย์มีลักษณะทรงสูงรูปแปดเหลื่ยม หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว แขวนกระดิ่งไว้ 80 ลูก โดยรอบเจดีย์ก่อด้วยอิฐประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ยอดปลายแหลมของเจดีย์เป็นรูปทรงกลมต่อกันขึ้นไปและเคลือบด้วยทอง แต่เจดีย์องค์เดิมมี 3 ชั้น ต่อมาในสมัยของจักรพรรดิยุ่งโล้แห่งราชวงค์เหม็งประมาณ พ.ศ. 1973 ได้โปรดให้สร้างเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 9 ชั้น มีโซ่โยงลงมาจากชายคาตรงแนวที่เป็นเหลี่ยมขององค์เจดีย์ 8 เส้น โดยแขวนกระดิ่งตามสายโซ่รวม 72 ลูก ปัจจุบันองค์เจดีย์อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก เนื่องจากเหตุการณ์เกิดกบฎไท้เผ็งได้ถูกเผาทำลายเมื่อ พ.ศ. 2392
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น