Web Blog การเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ประกอบการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ (สาระเพิ่ม) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ส 22102 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส 23102 ครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา ในการฝึกทักษะเรียนรู้พื้นฐาน การจัดการความรู้ ทักษะภาษาดิจิตอล ทักษะการรู้คิดประดิษฐ์สร้าง ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่มีประสิทธิผล ทักษะการสืบค้น ฯลฯ เพื่อพัฒนาไปสู่ทักษะความรู้ที่มุ่งหวังของหลักสูตร โรงเรียนมาตรฐานสากล 6 ประการ ประกอบด้วย (1) ทักษะการเรียนรู้ Learning Skills (2) ทักษะการคิด Thinking Skills (3) ทักษะการแก้ปัญหา Problerm Skills (4) ทักษะชีวิต Life Skills (5) ทักษะการใช้เทคโนโลยี Technology Skills (6) ทักษะการสื่อสาร Communication Skills ทฤษฎีระบบการเรียน KM (Knowlead Maneagement) โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม (Word Class Standard)

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เพียงเจ้าหลง ไปยึดมั่น ในใจกาย


เพียงเจ้าหลง ไปยึดมั่น ในใจกาย


อย่าลุ่มหลง ในตัณหา ทะยานอยาก
จะลำบาก ทนทุกข์ ไม่จางหาย
เพราะโทสะ อีกโมหะ ขังใจกาย
จึงวอดวาย เพราะกืเลส เผาในทรวง

อันเหล่ามาร คอยเอื้อมมือ ฉุดลากเจ้า
มันคอยเฝ้า อยู่ในใจ ไม่ห่างหาย
เพียงเจ้าหลง ไปยึดมั่น ในใจกาย
มันโผล่กาย เอื้อมมือคว้า ไปกลืนกิน

อีกอารมณ์ ความรู้สึก ที่มันสร้าง
ไม่ละวาง ก็เสร็จมัน ไม่เหลือหลอ
ตกเป็นทาส ต้องชดใช้ ไม่เคยพอ
ทุกข์จริงหนอ ทุกข์ซ้อนทุกข์ กรรมซ้อนกรรม

จงหยุดเถิด หยุดหลงไหล ในทุกสิ่ง 
เพียงแค่อิง อาศัย แล้วเลือนหาย
จงน้อมรับ ธรรมคำสอน มาจางคลาย
เพื่อสลาย ปวงกิเลส สู่ นฤพาน.....

อิสระ โบยบิน สู่เวหา


อิสระ โบยบิน สู่เวหา

อิสระ โบยบิน สู่เวหา
ขอจากลา ทุกสิ่ง ที่ยึดหมาย
ไม่เกาะเกี่ยว เหนี่ยวรั้ง แม้ใจกาย 
ขอถวาย ชีวา คืนองค์ธรรม

ไม่กลับหลัง ย้อนรอย ถึงอดีต 
ก้าวข้ามขีด เส้นแบ่ง วันและคืน
อนาคต เลื่อนลอย มิอาจฝืน
ทุกวันคืน หมุนไป อนิจจัง

ใจเจ้าเอ๋ย จงโผบิน ไปสุดฟ้า
นานนักหนา ที่ขังเจ้า ให้เศร้าหมอง
คอยบังคับ บีบเค้น น้ำตานอง
จนเจ้าต้อง ทุกข์ระทม ทุกคืนวัน

ต่อแต่นี้ ขอถอดถอน ปลดปล่อยเจ้า
จะไม่เฝ้า หวงแหน เป็นเจ้าของ
หมดอัตตา คอยซ้อน เข้าประคอง
ไม่เกี่ยวข้อง กับจิตนี้ อีกต่อไป

ทุกกระแส ที่เจ้าสร้าง ข้าขอปล่อย
จะไม่ถอย แต่ไม่สู้ อุเบกขา
ท่ามกลางเจ้า ร่ำไป ไม่ข้องคา
คือมรรคา ดำเนิน สู่พระธรรม

ธรรมคือแพ ล่องไป ส่งถึงฝั่ง
เราเปรียบดัง ผู้อาศัย บนเรือแพ
เมื่อถึงฝั่ง ต้องปล่อยวาง ไร้ข้อแม้
จิตเดิมแท้ นั้นไม่มา และไม่ไป

จึงเป็นฝั่ง ที่ไม่เกิด และไม่ดับ
เป็นเพียงศัพท์ สำเนียง เสียงสมมุติ
แค่ดำริ เพียงชั่วคราว ว่าวิสุทธิ์
แต่ท้ายสุด แห่งธรรมคือ สุญญตา..

อย่าจึ้งจ้อง ต้องตั้ง ในทุกสิ่ง


อย่าจึ้งจ้อง ต้องตั้ง ในทุกสิ่ง

ร้องหวีดหวิว อื้ออึง กระหน่ำโหม
สายลมโอบ หมุนวน ไร้จุดหมาย
เลี้ยวลัดเลาะ ซอกซอน ปะทะกาย
แล้วสลาย ผ่านไป ไม่ข้องคา

อีกสายฝน เทกระหน่ำ ซ้ำจนเปียก
จะร้องเรียก ให้หยุด ไม่เป็นผล
ถึงเวลา หยุดหาย ไปบัดดล
เพราะเป็นฝน แห่งธรรม ของมันเอง

อีกอาทิตย์ สาดแสง ส่องประกาย
เมฆลับหาย เบิกฟ้า ดูสดใส
จะโดนแดด แผดเผา ร้อนอย่างไร
ไม่ทุกข์ใจ เพราะเป็นธรรม ที่หมุนวน

ดั่งความคิด ที่วก-วน ในดวงจิต
จะถูกผิด ดีชั่ว ล้วนหลอกหลอน
แม้อารมณ์ ก่อเกิด คอยตัดรอน
อย่าอาวรณ์ ในกระแส ของมารลวง

มันจะเกิด มันจะดับ อย่าเกี่ยวข้อง
มารมันลอง ขับเคี่ยว เพื่อหวังผล
คอยกระชาก ลากเรา ปรากฏตน
ให้ต้องทน ทุกข์ยาก วิบากกรรม

อย่าจึ้งจ้อง ต้องตั้ง ในทุกสิ่ง
ไม่ต้องอิง ไม่ต้องแอบ ไปแก้ไข
ปล่อยให้คลาย ของมันเอง อยู่ร่ำไป
จะอย่างไร ก็ต้องวาง สถานเดียว

อักขระ โวหาร เป็นเพียงสื่อ


อักขระ โวหาร เป็นเพียงสื่อ


อักขระ โวหาร เป็นเพียงสื่อ
กำหนดชื่อ ต่างต่าง เป็นความหมาย
ใช้เจาะจง สรรพสิ่ง อยู่รอบกาย
เพื่อสลาย ความหลง ที่มัวเมา

อันดวงจิต เป็นเพียงชื่อ ที่กล่าวขาน
จะประมาณ อย่างไร มองไม่เห็น
ดุจอากาศ ว่างเปล่า ซ่านกระเซ็น 
เพราะมันเป็น นามธรรม ที่หลอกลวง

จึงสรุป ทุกสิ่ง สู่ความว่าง
นอกเหนือทาง ที่มี ตามสมมุติ
ไร้ตัวตน หมายมั่น ในที่สุด
คือวิมุติ อยู่แล้ว ในทันที

การเกิดดับ จึงเป็นธรรม ที่สับเปลี่ยน
ธรรมหมุนเวียน ไร้เรา เป็นเจ้าของ
จึงท่ามกลาง ธรรมชาติ ตามครรลอง
จิตทั้งผอง ก็คืนสู่ ตถตา...............

จิตของท่านผู้เจริญทั้งหลาย 
จึงเปรียบเสมือนอวกาศ 
ที่ไม่มีเบื้องตัน และไม่มีที่สิ้นสุด 
เพราะมันมีความอิสระ 

เมื่อถึงที่สุดแห่งธรรม


มื่อถึงที่สุดแห่งธรรม

แม้สุดเอื้อม จะเอื้อมสุด ส่งความหวัง
เป็นพลัง แห่งเมตตา สัตว์ทั้งหลาย 
พร้อมช่วยเหลือ ผู้ทุกข์ยาก ทั้งใจกาย
เพื่อสลาย ความทุกข์นั้น ไปบัดดล

ไม่แบ่งแยก ชนชั้น ในการโปรด
นำประโยชน์ แห่งพระธรรม มาเกื้อหนุน
ให้ปวงสัตว์ พ้นภัย คอยเจือจุน
ตามองค์คุณ แห่งพุทธา นุภาพธรรม

แม้ลำบาก ยากเย็น สักแค่ไหน
ทุกข์อย่างไร เป็นเพียงม่าน กำแพงขวาง
ขอสละ เนื้อหนัง ปูเป็นทาง
เพื่อชะล้าง ดวงใจ สิ้นมลทิน

เป็นแบบอย่าง ต่อเหล่าสัตว์ พึงได้เห็น
ความดับเย็น แห่งใจ ไร้เศร้าหมอง
ช่วยโอบอุ้ม น้อมนำ ธรรมประคอง
สู่ครรลอง แห่งสัจจะ พระนิพพาน

ขอปลดปล่อย ให้เจ้า อิสระ
สู่สัจจะ แห่งธรรม ไม่ยึดหมาย
วางหมดสิ้น ทุกกระแส ผ่านใจกาย
แต่มิวาย ก็ต้องอยู่ ท่ามกลางมัน

เป็นเพียงธรรม ที่พัดผ่าน อยู่เป็นนิจ
แต่ไม่ติด ในทุกสิ่ง ที่กระทบ
หมดอัตตา ดับสิ้น ธรรมบรรจบ
ยุติภพ แห่งเกิดตาย คืนสุญญตา...

สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน

          สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นคำที่ผมโปรยเอาไว้บนปกของสื่อสัจธรรมชุด วิญญาณหลงทาง เป็นประโยคที่ใช้อธิบายรหัสนัยแห่งพระนิพพานได้อย่างชัดเจน

            ก็ในเมื่อทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นตัวตนอยู่แล้ว อนัตตาอยู่แล้ว มันจะมีตัวเราตัวเขาขึ้นมา แปลกแยกแตกต่างกับสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ไหมเล่า มันก็ไม่มี

            ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ตรงต่อเนื้อหานิพพาน มันก็จะไม่หลงไปขัดแย้งกับสรรพสิ่งทั้งปวงไปเอง หมดความอึดอัดขัดเคืองในสิ่งต่างๆไปเอง

            พูดมาแบบนี้อาจจะมีคนแย้งว่า อ้าวแล้วที่บอกปฏิบัติธรรมผิดนั่นก็หลงขัดแย้งหรือเปล่า

            แบบนี้ไม่ได้หลงขัดแย้งครับ การปฏิบัติธรรมโดยเอาตัณหานำเพื่อให้ได้นิพพานนั้นผิดจริง ผิด "ธรรม" เต็มประตู เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นกรรม จะเกิดกรรมได้ก็ต้องมีอัตตาตัวตนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเมื่อใดที่เกิดอัตตาตัวตนขึ้นมามันก็จะหลงขัดแย้งกับสรรพสิ่ง สรรพธาตุ สรรพธรรมทั้งหลายที่มันไม่มีตัวตนเราเขาอยู่แล้วตลอด

            คืออัตตามันจะทำให้หลงแบ่งแยกให้เกิดเป็นตัวเราและมีสรรพสิ่งอื่นๆที่ไม่ใชตัวเราขึ้นมา เมื่อเกิดการแบ่งแยกกับสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นก็เริ่มหลงไปขัดแย้ง พอหลงไปขัดแย้งก็หลงว่าขัดเคือง แล้วก็หลงไปดิ้นรนไปแสวงหาสิ่งที่จะทำให้ธาตุและสภาวะที่เรายึดว่าเป็นตัวของเราได้สบายขึ้น หลงสนองตัณหา หลงสนองกิเลสตัวเอง ไม่รู้จบ แต่กรรมทุกอย่างที่สรรพสัตว์ทั้งหลายทำมันก็จะโมฆะไปเองอยู่แล้ว และก็ไม่มีใครได้อะไรจากสังสารวัฏจริงแม้แต่คนเดียว

            ก็ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านก็บอกอยู่แล้วว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนัตตา แล้วจะเอา "ใคร" ไปปฏิบัติธรรม หรือเอา"ใคร" ไปได้ไปเสียอะไรเล่า มันหลงไปเองทั้งนั้น

            ส่วนผู้ที่หลงไปแล้ว ก็ยังเป็นหนึ่งเดียวกันกับทุกสรรพสิ่งอยู่ ไม่มีการแบ่งแยก เพราะธรรมนั้นไม่เคยแบ่งแยกอะไร เป็นธรรมหนึ่งเดียวตลอดชั่วนิรันตร์ เพียงแต่ผู้นั้นหลงไปเองว่ามีตัวตนเราเขา มีนามมีรูป หลงไปว่ามีธรรมคู่ ทั้งๆที่ทุกอย่างล้วนเป็นธรรมเอกหรือธรรมหนึ่งอยู่แล้วตลอด

            ธรรมที่คนหมู่มากศึกษาร่ำเรียนและปฏิบัติกันอยู่นั้น มันเป็นโลกียธรรม คือธรรมอันเกิดจากการเอาโลกียวิสัยเข้าไปตีความ (เป็นอัตตโนมัติ เป็นโมหะทิฏฐิในธรรม) เข้าไปปฏิบัติ (เป็นกรรมซ้อนสภาวะธรรม) เป็นความหลงเข้าไปแตกแยกขัดแย้งกับ "ธรรม" ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันเสมอ หลงเข้าไปทำโน่น ทำนี่เพื่อที่จะเข้าถึงสภาวะนิพพาน ซึ่งมันผิดตั้งแต่การใช้บัญญัติแล้ว จะเข้าจะออกนิพพานอะไร มันไม่ใช่ มันนิพพานอยู่แล้ว พอบัญญัติชี้นำผิดๆ มันก็จะให้ภาพนิพพานที่ผิดไปด้วย เรียกว่าผิดตั้งแต่ต้นทางคือบัญญัติ ความเข้าใจก็เลยผิดตาม ทีนี้สรรพสัตว์ทั้งหลายก็เลยหลงทางไปในโมหะทิฏฐิอันวกวนหาจุดจบไม่เจอ

            ยิ่งสมัยนี้อินเตอร์เน็ตและ social network ยิ่งทำให้เส้นทางวกวนในโมหะของผู้คนขยายออกไปไม่รู้จบด้วยการ "ช่วยกันเผยแพร่" นี่แหละ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเผยแพร่อะไรออกไปบ้าง ใช่เนื้อหาจริงๆหรือเปล่า

            โลกียธรรมที่เราเห็นกันดาษดื่นจึงมีแต่ธรรมที่หลงตัดแต่งพันธุกรรมออกมาแล้ว คือตัดต่อออกมาเป็นเรื่องๆเป็นอย่างๆ แล้วก็ไปแยกฝึกทำฝึกปฏิบัติทีละอย่าง กลายเป็นภาระและสับสนในการใช้งานอีก ทั้งๆ ที่ธรรมแท้ๆนั้นไม่เคยเป็นภาระให้ใคร มีแต่จะปลดเปลื้องภาระให้อย่างเดียว

            แต่เมื่อใดที่เข้าถึงเนื้อหาโลกุตรธรรมแล้ว มันก็จะไม่มีหลงการแบ่งแยกเป็นเราเขา นามรูป หรือธรรมคู่ จะแจ้งไปเองว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนที่ยังดำรงธาตุขันธ์ กายใจอยู่นั้นก็เป็นเพียงธาตุธรรมที่หยิบยืมมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายก็จะเสื่อมไปโดยตัวมันเองอยู่แล้ว

ถ้าใครคิดว่าธรรมคู่มีจริง ลองตอบคำถามต่อไปนี้ครับ

ร่างกายของคุณเสื่อมโดยตัวมันเองไหม?
อารมณ์ต่างๆของคุณเดี๋ยวมันก็ผ่านไปใช่หรือไม่?
คุณบังคับใจตนเองได้ไม่ตลอดใช่ไหม?
คุณบังคับความคิดของตนเองได้ 100% หรือไม่?

เห็นอะไรไหมครับ?


            สภาวะต่างๆล้วนแล้วแต่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือแปลเป็นไทยร่วมสมัยได้ว่า ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เสื่อมไปโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเป็นตัวตนอยู่แล้ว

            ทุกสภาวะมันวูบไหวผ่านไปไม่มีแก่นสารอะไร ที่มีแก่นสารขึ้นมาได้ก็เพราะเราไปตอกย้ำมัน พอตอกย้ำก็เป็นอัตตาตัวตนขึ้นมาซ้อนในสภาวะธรรมทั้งหลายที่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่แล้ว แล้วมันก็เป็นกรรม

            แต่กรรมที่ว่านี่ก็อยู่ใต้กฏไตรลักษณ์ไง พอกรรมมันคลายตัวเองมันก็มาในรูปวิบาก คือมันวิ่งกลับคืนให้ต้นทางของแรงกรรมเพื่อคืนพลังงานกรรมเดิมให้จิตดวงนั้น จะได้ "เจ๊า" กับกรรมที่เคยทำเอาไว้ตามสมการ แรงกระทำ = แรงสะท้อน

            แล้วโมหะก็เหมือนกัน โมหะมันก็ไตรลักษณ์เหมือนกัน หลงได้ก็หมดหลงได้ ขนาดจิตไปเสวยอารมณ์จบแล้วมันก็ดับไปเหมือนกัน ไม่ว่าสุข หรือ ทุกข์ ดี หรือ เลว ก็อยู่ภายใต้ไตรลักษณ์ ซึ่งก็คือ "ธรรมหนึ่ง" เหมือนกัน แล้วทีนี้ถามว่า "ธรรมคู่" ที่สอนกันทั่วบ้านทั่วเมืองน่ะมาจากไหน

ก็หลงไปน่ะสิครับ มันถึงมีธรรมคู่ขึ้นมา!!!


            ธรรมทุกอย่างในโลกธาตุและสังสารวัฏนี้ล้วน เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เสื่อมไปโดยตัวมันเอง และไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว เมื่อเป็นแบบนี้ พอ "หลง"เข้าไปยึด พยายามที่จะยึด สุดท้ายมันก็ยึดไม่ได้ มันก็ทุกข์ขึ้นมา พยายามยึดเข้าไปเถอะครับ สภาวะธรรมทั้งหลายนั่นแหละ ยึดไม่ได้ทั้งนั้น แต่ที่พูดนี่ไม่ได้ให้ปล่อยหรืออะไรนะครับ ไม่ต้องหลงไปปล่อย ไปวางอะไรอีก

            ก็ฟังสัจธรรมความเป็นจริงให้มันแจ้งแก่ใจว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่แล้ว มันนิพพานอยู่แล้วตลอด ไม่ว่าเราจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร จะปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าความสุขหรือทุกข์ของเราก็เหมือนกัน มันนิพพานอยู่แล้วตลอด เพียงแต่เราหลงไปเองทั้งนั้น ที่หลงไปปฏิบัติก็เหมือนกัน มัวแต่หลงไปปฏิบัติกรรมกันอยู่นั่นมันก็เลยเป็นอัตตาไปหน้าเรื่อย กรรมที่เกิดจากการปฏิบัติก็บังนิพพานไปเรื่อย อย่างนี้มันจะเจอหรือนิพพานน่ะ

        ก็แค่ "หยุด" เท่านั้นเอง องคุลิมาลท่านก็ "หยุด" แล้วจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกรรมอยู่นั่นน่ะ จะ"หยุด" ตัวเองในอะไรๆได้หรือยัง จะได้แจ้งตรงต่อเนื้อหานิพพานเสียที หยุดปั๊บนั่นแหละ นิพพานทันที ไม่ต้องรอให้ใครประกาศผล รู้ได้เองเลย

        และต่อให้หลงเอาตัวเองไปปฏิบัติกันจนตายยังไงนะ สุดท้ายก็ต้องหยุดเหมือนกันหมดครับ ถ้าไม่เกิดปัญญาจนหยุดได้เอง สักวันหนึ่งมันก็จะเหนื่อยขาดใจก็หยุดเองนั่นแหละครับ

        เพราะไอ้ความเป็น "เรา" ที่ไปปฏิบัติธรรม เพื่อให้"เรา" พ้นทุกข์น่ะ มันก็จะเสื่อมไปโดยตัวของมันเองเหมือนกันทั้งนั้น หยุดต่อกรรมเมื่อไหร่นั่นแหละจบ

ชุมชนหมู่บ้านไท

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
(นิราศภูเขาทอง ของ สุนทรภู่ --ครูกลอนอักษรสาร)

ชุมชนหมู่บ้านไทมักมีหน้าที่การผลิตสินค้าป้อนตลาดท้องุถิ่นและตลาดต่างเมืองบ้านละอย่างสองอย่าง เช่น บ้านจักสาน บ้านถั่วเน่า บ้านปั้นหม้อ บ้านตีมีด บ้านเครื่องเงิน บ้านเครื่องเขิน บ้านทอผ้า ระบบชุมชนช่างนี้ถูกจัดวางพร้อมกับการวางผังเมือง มักกระจายตัวรอบเวียง เพื่อเชื่อมต่อกับเวียงและออกสู่บ้านและตลาดนอกเวียงได้โดยง่าย ใครจะหาอะไรก็มารับของเอาจากแหล่งผลิต ไม่ก็ให้ระบบพ่อค้าวัวต่างมาขนไปให้

หน้าที่ของหมู่บ้านช่างมิใช่เพียงผลิตป้อนความต้องการตลาดเท่านั้น แต่ยังเป็นกุศโลบายในการรวมภูมิปัญญาแต่ละด้านไว้ ชุมชนช่างจึงทำหน้าที่เป็นโรงบ่มเพาะทักษะที่ลูกหลานไทพึงเรียนพึงรู้ เป็นหนทางในการอนุรักษ์ช่างฝีมือให้คงอยู่

นักวิจัยชอบที่จะไปชุมชนช่าง เพราะนอกจากได้เก็บข้อมูลแล้ว ยังได้มัวเมาช้อปปิ้งในราคาต้นทุน มีอะไรก็เหมามาฝากเพื่อนฝูง อุปาทานหมู่ซื้อตามกันไป พอได้คลายเครียดจากการเก็บข้อมูล แต่ชุมชนที่ต้องพึงระวังอย่างมาก คือ บ้านต้มเหล้าเพราะเขาจะชวนเราตั้งวงชิมกันเพลิน เดินขาปัดกลับออกมา เป็นลำยอง จะดูไม่งาม

จะให้ดี ควรลงบ้านต้มเหล้าเป็นที่สุดท้าย ไม่เช่นนั้นอาจเสียงานเสียการเอาได้

ภาพ : โรงต้มเหล้า บ้านจ๋ามกา บ้านไตกลางหนองฮายหญ้า
"เเอดมินสายเครือไท ๓"


การจัดการศึกษาและดูแลเด็ก เยาวชน Gen Z

........ผู้ที่เกิดหลังปี 1994 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีเวิร์ลไวด์เว็บ อินเทอร์เน็ตเบ่งบูม ข้อมูลดิจิทัล เข้ามาแทน (substitute) กระดาษและหนังสือ 
........ก่อให้เกิดแหล่งความรู้เก็บสะสมบนคลาวด์ Cloud มากมายมหาศาล
-----------------------------------------------------------
........ผู้ที่เกิดในยุคนี้ จึงเรียกว่า ดิจิทัลเนทีฟ Digital native หรือ Gen Z เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการใช้ดิจิทัลได้เอง 
โดยไม่ต้องมีใครสอน ........ผูกพันและถนัดในการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ ทั้งแท็บเบล็ต สมาร์ทโฟน มีอากู๋เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว มีเพื่อนผ่านทางเครือข่ายสังคม
-----------------------------------------------------------
........ลักษณะเด่นของพวก Gen Z คุ้นเคยกับการใช้งานแบบมัลติทาสก์ เพราะต้องเปิดหลายๆ วินโดว์ในการทำงาน 
........ทำงานหลายอย่างเวลาเดียวกันได้ มีการสื่อสารออนไลน์ และเครือข่ายสังคม สื่ออารมณ์ด้วยตัวหนังสือ อีโมติคอนและสติกเกอร์ 
........มีการอวตารเป็นอาวาร์ตาร์ได้หลายตัว ไม่ชอบจดจำ แต่เก็บความจำไว้บนคลาวด์ มีจินตภาพดี ไม่ชอบอ่านหนังสือ หรือลงรายละเอียด 
........มีความอดทนต่ำ รอคอยอะไรนานไม่ได้ สมาธิสั้น ฯลฯ
-----------------------------------------------------------
........การจัดการเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ครูใช้วิธีการสอนแบบเดิม แบบเล็กเชอร์ไม่ได้ผล 
........กระบวนการต้องจัดให้ลงมือทำ และเรียนรู้แบบย้อนทาง ต้องให้แอกตีฟ และเรียนตามความสนใจให้มากขึ้น 
........เป้าหมายของการเรียนรู้ มิใช่ตัวความรู้อีกต่อไป เพราะตัวความรู้นั้นมีมายมายมหาศาล เกินกว่าที่จะสอนให้นักเรียนแต่ละชั้นปีได้ 
........นักเรียนในยุคใหม่ มีหนทางค้นหาความรู้ด้วยตนเอง(จากก้อนเมฆ)
-----------------------------------------------------------
........เดิมเป็นการศึกษาแบบทางเดียว one-way learning เพื่อตอบสนอง manufacturing-based economy 
........จัดการศึกษาแบบ mass มาสู่ยุค digital technology ยุคออนไลน์ interactive environment 
........การเรียนรู้จาก Cloud knowledge ตอบสนอง Digital economy โดยเปลี่ยนผ่านการเรียนแบบ Work sheets, passive learning and lecture-based teaching ไปสู่ Active learning 

สัปดาห์ที่12 สงครามเย็น( Cold War )

สงครามเย็นหมายถึง การประจันหน้าด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้นำลัทธิเสรีประชาธิปไตยกับสหภาพโซเวียตประเทศ ผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นการปะทะกันทุก ๆ วิถีทาง ยกเว้นด้านการทหาร การขยายอำนาจในสงครามเย็นจึงเป็นลักษณะการแสวงหาพรรคพวกร่วมอุดมการณ์และแข่งขันกันเป็นมหาอำนาจทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ โดยไม่ทำสงครามกันอย่างเปิดเผย แต่เป็นการสนับสนุนให้ประเทศที่เป็นพวกของแต่ละฝ่ายทำสงครามตัวแทน 

สาเหตุของสงครามเย็น 

สหรัฐอเมริกาได้ประกาศวาทะทรูแมน (Trueman Doctrine)ในค.ศ 1947 มีสาระสำคัญว่า ...สหรัฐอเมริกาจะโต้ตอบการคุกคามของประเทศคอมมิวนิสต์ทุกรูปแบบและทุกสถานที่ แล้วแต่สหรัฐจะเห็นสมควร โดยไม่จำกัด ขนาด เวลา และสถานที่ ....จะให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ให้พ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่กรีซและตุรกีเป็นตัวอย่าง สืบเนื่องมาจากสหภาพโซเวียตเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และแทรกแซงให้ความช่วยเหลือกบฎในตุรกีและกรีกเพื่อจัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ การประกาศวาทะทรูแมนจึงเป็นจุดเริ่มต้นสงครามเย็นที่แท้จริง ต่อมาสหรัฐได้ประกาศแผนการมาร์แชล(Marshall Plan) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับยุโรปตะวันตก

ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตได้ตอบโต้ด้วยการจัดตั้ง องค์การโคมินฟอร์ม ( Cominform ) ใน ค.ศ. 1947 เพื่อขยายลัทธิคอมมิวนิสต์สู่ประเทศต่าง ๆ และสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก ต่อมาได้ซึ่งพัฒนามาเป็นองค์การ โคมินเทอร์น (Comintern)

การเผชิญหน้าทางทหาร ใน ค.ศ. 1949 สหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization ) ประกอบด้วยภาคี 12 ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักซัมเบอร์ก สหรัฐอเมริกา แคนาดา เดนมาร์ค ไอซ์แลนด์ อิตาลี นอร์เวย์และเปอร์ตุเกส ต่อมาตุรกีและกรีซ ได้เข้าเป็นสมาชิก และในค.ศ. 1955 เยอรมนีตะวันตกได้เข้าเป็นสมาชิกด้วย

ในค.ศ.1955 สหภาพโซเวียตได้ชักชวนให้ประเทศในยุโรปตะวันออกลงนามในสนธิสัญญาวอร์ซอร์ ( Warsaw Pact)ซึ่งเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร ประเทศภาคี คือ สหภาพโซเวียต เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี รูมาเนีย บัลกาเรียและเชคโกสโลวาเกีย
วิกฤตการณ์เบอร์ลิน(The Berlin Blockade) ค.ศ.1948 

เบอร์ลินถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนแบ่งเขตยึดครองคือ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้ส่วนยึดครองทางเบอร์ลินตะวันตกและเยอรมนีตะวันตก สหภาพโซเวียตได้เบอร์ลินส่วนตะวันตกและเยอรมนีตะวันตก เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองสหภาพโซเวียตได้ประกาศปิดล้อมเบอร์ลินไม่ให้สัมพันธมิตรเข้าออกเบอร์ลินในวันที่ 19 มิถุนายน 1948 ถึง พฤษภาคม 1949 มิให้มีการติดต่อกับภายนอก เพื่อบังคับให้มหาอำนาจตะวันตกละทิ้งเบอร์ลิน โดยปิดเส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ ตัดกระแสไฟฟ้าประเทศสัมพันธมิตรและคณะมนตรีความมั่นคงแก้ปัญหาโดยการใช้เครื่องบินบรรทุกเครื่องอุปโภคบริโภคไปโปรยให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกเป็นเวลากว่า 1 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การแบ่งแยก เยอรมันนีเป็น 2 ประเทศและแบ่งเบอร์ลินเป็น 2 ส่วนอย่างถาวร


การแบ่งเขตยึดครองเบอร์ลินของของมหาอำนาจ 4 ประเทศ สร้างกำแพงยาวกว่า 27 ไมล์
กั้นระหว่างเบอร์ลินในค.ศ.1961 เรียกกำแพงเบอร์ลิน
ในค.ศ.1949 เยอรมนีตะวันตกได้ตั้งเป็นประเทศ ชื่อว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและสหภาพโซเวียตได้ตั้งเขตปกครองของตนในเยอรมนีตะวันออกเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน เมื่อแบ่งประเทศแล้ว ชาวเยอรมนีตะวันออกได้อพยพมาอยู่ในเขตตะวันตกมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้รัสเซียต้อง สร้างกำแพงยาวกว่า 27 ไมล์ กั้นระหว่างเบอร์ลินใน ค.ศ.1961 เรียก กำแพงเบอร์ลิน


เครื่องบินสัมพันธมิตรขนส่งอาหารให้กับประชาชนในเบอร์ลินตะวันตก

กำแพงเบอร์ลิน

กำแพงเบอร์ลินสร้างในปี ค.ศ. 1961 แบ่งเบอร์ลินตะวันตกและตะวันออก ออกจากกัน เป็นสัญลักษณ์สำคัญหนึ่งของสงครามเย็น และถูกทำลายไปเมื่อ ค.ศ. 1989 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1990 โดยมิคาอิล กอบาชอฟ ยินยอมให้เยอรมันทั้งสองตัดสินใจอนาคตตนเอง โดยสหภาพโซเวียตจะไม่เข้าแทรกแซงจึงมีการรวมเยอรมันเป็นประเทศเดียวกันอย่างเป็นทางการ เรียกว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 


สัปดาห์ที่11 สงครามโลกครั้งที่ 1


แผนที่สงครามโลครั้งที่ 1แสดงการรบในยุโรปและตะวันออกกลาง
สงครามโลกครั้งที่ 1

            เริ่มใน ค.ศ. 1914 สิ้นสุดใน ค.ศ.1918 เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ 2 ค่าย คือ ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย – ฮังการี และอิตาลี (ผู้นำสำคัญ คือบิสมาร์ค แห่งเยอรมนี) กับฝ่าย ประกอบด้วย Triple Entente ได้แก่ บริเตนใหญ่ ( อังกฤษ ) ฝรั่งเศส และรัสเซีย การรบเริ่มขึ้นหลังการลอบสังหารมกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย – ฮังการี และสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจกลาง หรือ Triple Alliance มีการทำสนธิสัญญาแวร์ซายส์ บังคับให้เยอรมนีและพันธมิตรเสียค่าปฏิกรรมสงครามชดใช้จำนวนมหาศาลและเสียดินแดนที่เป็นอาณานิคมให้แก่ฝ่าย Triple Entente

สาเหตุสงครามโลกครั้งที่ 1 


ลัทธิชาตินิยม

การเกิดลัทธิชาตินิยมจากคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ทำให้เกิดระบบรวมรัฐชาติ สร้างระบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รัฐชาติในประเทศยุโรปต่างแสวงหาความเป็นมหาอำนาจ ทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ รัฐชาติหมายถึง รัฐหรือประเทศที่ประชาชนมีความรู้สึกผูกพันกัน มีความสามัคคี ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ความรักชาติที่รุนแรงจนเป็นลัทธิชาตินิยม ทำให้เชื่อว่าชาติตนเหนือกว่าชาติอื่น ผลักดันชาติของตนได้เปรียบชาติอื่นไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ หรือการทหาร นำไปสู่การแข่งขันอำนาจกัน จนกลายเป็นสงคราม เช่น สงครามการรวมอิตาลี การรวมเยอรมนี จนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 

ลัทธิจักรวรรดินิยม 

ลัทธิชาตินิยมนำไปสู่ลัทธิจักรวรรดินิยม ลัทธิจักรวรรดินิยม หมายถึงประเทศที่พัฒนา แล้วประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ การทหาร และวิทยาศาสตร์ เข้าครอบครอง ที่ด้อยพัฒนากว่า ลัทธิจักรวรรดินิยมเริ่มจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ต้องการวัตถุดิบและตลาด มหาอำนาจยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ปรัสเซีย ( เยอรมนี) เนเธอร์แลนด์ ต่างแข่งขันกันขยายอำนาจในการครอบครองดินแดนในทวีปเอเชียอเมริกากลางและอัฟริกาโดยครอบงำทาวัฒนธรรม และวิถีชีวิต เป็นแหล่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้เมืองแม่ 

การแบ่งกลุ่มพันธมิตรยุโรป 

นโยบายการรวมกลุ่มที่มีผลประโยชน์ตรงกัน เริ่มต้นใน ค.ศ. 1907 เมื่อ เยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการีลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรไตรมิตร (Triple Alliance )ประจันหน้ากับรุสเซีย เนื่องจากเยอรมนี ต้องการไม่ให้รัสเซียเป็นใหญ่ในชนเผ่าสลาฟแหลมสมุทรบอลข่าน ต่อมามีอิตาลีมาร่วมประเทศ เพราะไม่พอใจฝรั่งเศสที่แย่งครอบครองตูนิเซีย ในฐานะรัฐในอารักขา ฝ่ายออสเตรีย – ฮังการีซึ่งต้องการเป็นใหญ่ในแหลมบอลข่านเช่นกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียลงนามในสนธิสัญญาสันธไมตรีไตรมิตร (Triple Entente ) ค.ศ. 1907และเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วย 

ความขัดแย้งเรื่องแหลมบอลข่าน 

สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ออสเตรีย – ฮังการีขัดแย้งกับเซอร์เบีย เรื่องการสร้างเขตอิทธิพลในแหลมบอลข่าน เยอรมนีสนับสนุนออสเตรีย – ฮังการี ขณะที่รัสเซียสนับสนุนเซอร์เบีย ความขัดแย้งขยายความรุนแรงเป็นสงครามระหว่างรัฐในแหลมบอลข่าน มหาอำนาจจึงมีโอกาสแทรกแซงและตั้งกลุ่มพันธมิตร 

จุดระเบิดของสงครามโลกครั้งที่ 1 มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย-ฮังการีคือ อาร์ค ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ กับพระชายาโซเฟีย ถูกลอบปลงพระชนม์ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1914ที่เมืองซาราเจโว ขณะเสด็จเยือนเมืองหลวงของบอสเนีย โดยคนร้ายชื่อ กาฟริโล ปรินซิพ นักศึกษาชาวบอสเนียสัญชาติเซอร์เบีย ออสเตรียเรียกร้องให้เซอร์เบียปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เซอร์เบียปฏิเสธออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบีย 28 กรกฎาคม 1914 รัสเซียแสดงตนว่าเป็นผู้พิทักษ์เผ่าสลาฟจึงระดมพล เยอรมนีประกาศสงครามกับฝรั่งเศสและรัสเซีย ต่อมาอังกฤษเข้าสู่สงครามเมื่อเยอรมนีบุกเบลเยียม และญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามต่อเยอรมนี เพราะมุ่งหวังในอาณานิคมของเยอรมนีในจีน 

ผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 

            1. การสถาปนาองค์การสันนิบาตชาติ แต่มีจุดอ่อนในการรักษาสันติภาพ เพราะรัสเซีย ถอนตัวและสหรัฐอเมริกาไม่เข้าเป็นสมาชิก ทั้งยังไม่มีกองทหารรักษาสันติภาพด้วย 

            2. เกิดสนธิสัญญาสันติภาพที่ประเทศผู้ชนะร่างขึ้นมี 5 ฉบับ 

- สนธิสัญญาแวร์ซายส์ทำกับเยอรมนี เยอรมนีต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลและเสียดินแดนหลายแห่ง ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ราคาสินค้าตกต่ำ ในเยอรมนีไม่สามารถใช้หนี้สงครามได้และมองสนธิสัญญานี้ว่าไม่เป็นธรรม จนฮิตเลอร์นำมาประณามเมื่อเริ่มมีอำนาจ 

- สนธิสัญญาแซงต์ แยร์แมงทำกับออสเตรีย 
- สนธิสัญญาเนยยี ทำกับบัลแกเรีย 
- สนธิสัญญาตริอานองทำกับฮังการี 
- สนธิสัญญาแซฟส์ทำกับตุรกี ต่อมาเกิดการปฏิวัติในตุรกีจึงมีการทำสนธิสัญญาใหม่เรียกว่าสนธิสัญญาโลซานน์ 

            3. ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และความยากจนต่อเนื่องจากก่อนสงคราม นำไปสู่การที่เลนิน ปฏิวัติเปลี่ยนประเทศรัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 

            4. ในยุโรปมีรูปแบบของรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แก่รัสเซีย เลนินปฏิวัตินำระบบคอมมิวนิสต์มาปกครองรัสเซียใน ค.ศ. 1917 และในค.ศ. 1924 -1953 สตาลินได้ใช้ระบบเผด็จการที่เน้นการปราบศัตรูทางการเมืองและการผูกขาดอำนาจด้วยความรุนแรงมากขึ้น ส่วนในเยอรมนี ฮิตเลอร์ได้เป็นผู้นำ ใช้ระบบเผด็จการโดยอำนาจพรรคนาซี ตั้งแต่ ค.ศ.1933 และในอิตาลี มุสโสลินีได้ตั้งพรรคฟาสซิสต์ขึ้นในเวลาต่อมา 

            5. เกิดประเทศใหม่ 7 ประเทศเนื่องมาจากการแยกดินแดนได้แก่ ฮังการี ยูโกสลาเวีย โปแลนด์ เชคโกสโลวาเกีย ลิทัวเนีย แลตเวีย แอสโตเนีย

สัปดาห์ที่10 อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก

           วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย การติดต่อกับชาวต่างชาติของคนไทยในยุคสมัยต่างๆ มีผลต่อสังคมไทยหลายด้าน วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย 
            โดยวัฒนธรรมบางอย่างได้ถูกปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและประเพณีดั้งเดิมของคนไทย  ขณะที่วัฒนธรรมบางอย่างรับมาใช้โดยตรง

            1.  วัฒนธรรมตะวันออกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกต่อสังคมไทย มีมาตั้งแต่ก่อนการตั้งอาณาจักรของคนไทย  เช่น สุโขทัย ล้านนา ซึ่งมีทั้งวัฒนธรรมที่รับจากอินเดีย จีน เปอร์เซีย เพื่อนบ้าน เช่น เขมร มอญ พม่า โดยผ่านการติดต่อค้าขาย การรับราชการของชาวต่างชาติ การทูต และการทำสงคราม
            สำหรับตัวอย่างอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกที่มีต่อสังคมไทยมีดังนี้
1.  ด้านอักษรศาสตร์  เช่น  ภาษาไทยที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยได้รับอิทธิพลจากภาษาขอม  รับภาษาบาลี  ภาษาสันสกฤตจากหลายทางทั้งผ่านพระพุทธศาสนา  ผ่านศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  จากอินเดีย  เขมร  นอกจากนี้  ในปัจจุบันภาษาจีน  ญี่ปุ่น  เกาหลี  ก็ได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น

2.  ด้านกฎหมาย  มีการรับรากฐานกฎหมาย  มีการรับรากฐานกฎหมายอินเดีย  ได้แก่  คัมภีร์พระธรรมศาสตร์  โดยรับผ่านมาจากหัวเมืองมอญอีกต่อหนึ่ง  และกลายเป็นหลักของกฎหมายไทยสมัยอยุธยาและใช้มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

3.  ด้านศาสนา  พระพุทธศาสนาเผยแผ่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลายาวนานแล้ว  ดังจะเห็นได้จากแว่นแคว้นโบราณ  เช่น  ทวารวดี  หริภุญชัยได้นับถือพระพุทธศาสนา  หรือสุโขทัย  รับพระพุทธศาสนาจากนครศรีธรรมราชและได้ถ่ายทอดให้แก่อาณาจักรอื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมของคนไทยตลอดมา  นอกจากนี้  คนไทยยังได้รับอิทธิพลในการนับถือศาสนาอิสลามที่พ่อค้าชาวมุสลิมนำมาเผยแผ่  รวมทั้งคริสต์ศาสนาที่คณะมิชชันนารีนำเข้ามาเผยแผ่ในเมืองไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา

4.  ด้านวรรณกรรม  ในสมัยอยุธยาได้รับวรรณกรรมเรื่องรามเกรียรติ์  มาจากเรื่องรามายณะของอินเดีย  เรื่องอิเหนาจากชวา  ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการแปลวรรณกรรมจีน  เช่น  สามก๊ก  ไซอิ๋ว  วรรณกรรมของชาติอื่น ๆ เช่น  ราชาธิราชของชาวมอญ  อาหรับราตรีของเปอร์เซีย  เป็นต้น

5.  ด้านศิลปวิทยาการ  เช่น เชื่อกันว่าชาวสุโขทัยได้รับวิธีการทำเครื่องสังคโลกมาจากช่างชาวจีน รวมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมเนื่องในพระพุทธศาสนาจากอินเดีย  ศรีลังกา

6.  ด้วยวิถีการดำเนินชีวิต เช่น คนไทยสมัยก่อนนิยมกินหมากพลู รับวิธีการปรุงอาหารที่ใส่เครื่องแกง เครื่องเทศจากอินเดีย  รับวิธีการปรุงอาหารแบบผัด การใช้กะทะ การใช้น้ำมันจากจีน  ในด้านการแต่งกาย คนไทยสมัยก่อนนุ่งโจงกระเบนแบบชาวอินเดีย  เป็นต้น

            2.  วัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย ไทยได้รับวัฒนธรรมตะวันตกหลายด้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในระยะแรกเป็นความก้าวหน้าด้านการทหาร สถาปัตยกรรม ศิลปวิทยาการ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 3  เป็นต้นมา คนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น  ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน

            ดัวอย่างวัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยที่สำคัญมีดังนี้
1.  ด้านการทหาร  เป็นวัฒนธรรมตะวันตกแรก ๆ ที่คนไทยรับมาตั้งแต่อยุธยา  โดยซื้ออาวุธปืนมาใช้  มีการสร้างป้อมปราการตามแบบตะวันตก  เช่น  ป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส  ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจ้างชาวอังกฤษเข้ามารับราชการเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการทหาร  มีการตั้งโรงเรียนนายร้อย  การฝึกหัดทหารแบบตะวันตก

2.  ด้ารการศึกษา  ในสมัยรัชกาลที่ 3  มีชนชั้นนำจำนวนหนึ่ง  เช่น  พระอนุชาและขุนนางได้เรียนภาษาอังกฤษและวิทยาการตะวันตก  ในสมัยรัชกาลที่ 4  ทรงจ้างครูต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษและความรู้แบบตะวันตกในราชสำนัก
ในสมัยรัชการลที่ 5  มีการตั้งโรงเรียนแผนใหม่  ตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นมาจัดการศึกษาแบบใหม่  ทรงส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาที่ประเทศต่าง ๆ เช่น  โรงเรียนแพทย์  โรงเรียนกฎหมาย  ในสมัยรัชกาลที่ 6  มีพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับและการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 3.  ด้านวิทยาการ  เช่น  ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ความรู้ทางดาราศาสตร์จนสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างถูกต้อง  ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่  ซึ่งเริ่มในสม้ยรัชกาลที่ 3  ในสมัยรัชกาลที่ 5  มีการจัดตั้งโรงพยาบาล  โรงเรียนฝึกหัดแพทย์และพยาบาล  ความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตกนี้ได้เป็นพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน 
 ด้านการพิมพ์  เริ่มจากการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายปักษ์ภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2387  ชื่อ  “บางกอกรีคอร์เดอร์”  การพิมพ์หนังสือทำให้ความรู้ต่าง ๆ แพร่หลายมากขึ้น  ในด้านการสื่อสารคมนาคม  เช่น  การสร้างถนน  สะพาน  โทรทัศน์ โทรศัพท์  กล้องถ่ายรูป  รถยนต์  รถไฟฟ้า  เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น  ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่คนไทยเป็นอย่างมาก

4.  ด้านแนวคิดแบบตะวันตก  การศึกษาแบบตะวันตกทำให้แนวคิดทางการปกครอง  เช่น  ประชาธิปไตย  คอมมิวนิสต์  สาธารณรัฐแพร่เข้ามาในไทย  และมีความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  นอกจากนี้  วรรณกรรมตะวันตกจำนวนมากก็ได้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการประพันธ์จากร้อยกรองเป็นร้อยแก้ว  และการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ในสังคมไทย  เช่น  การเข้าใจวรรณกรรมรูปแบบนวนิยาย  เช่น  งานเขียนของดอกไม้สด  ศรีบูรพา

 5.  ด้านวิถีการดำเนินชีวิต  การรับวัฒนธรรมตะวันตกและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มาใช้  ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป  เช่น  การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหารแทนการใช้มือ  การนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพื้น  การใช้เครื่องแต่งกายแบบตะวันตกหรือปรับจากตะวันตก  การปลูกสร้างพระราชวัง  อาคารบ้านเรือนแบบตะวันตก  ตลอดจนนำกีฬาของชาวตะวันตก  เช่น  ฟุตบอล  กอล์ฟ  เข้ามาเผยแพร่  เป็นต้น

สัปดาห์ที่9 พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ทวีปอเมริกาใต้

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

            การตั้งถิ่นฐานของชนพื้นเมืองก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ายึดครอง เชื่อกันว่าชาวอินเดียนแดงได้อพยพมาจากทวีปเอเชีย 
            โดยเดินทางข้ามช่องแคบเบริ่ง เร่ร่อนจากทวีปอเมริกาเหนือลงสู่ ทวีปอเมริกาใต้ และมาตั้งหลักแหล่งอย่างมั่นคงบริเวณเทือกเขาแอนดีส 
            มีหลักฐานที่เด่นชัดคือซากเมือง มาชู ปิกชู Machu Piachu ของอาณาจักรอินคา บริเวณประเทศเปรู 
            นับตั้งแต่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานยุคแรกเมื่อ 20,000 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ดำรงชีพด้วยการเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติ ล่าสัตว์ เก็บของป่ากิน 
            จนถึงยุคการปลูกพืชพรรณและเลี้ยงสัตว์ กลายเป็นการวางรากฐานด้านเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ 
            รวมทั้งการก่อตั้งหมุ่บ้านและสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของมนุษย์ในสมัยนั้น 
            เมื่อ 8,000 ปีก่อนคริสตศักราช ดินแดนอันกว้างใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้ สามารถเพาะปลูกพืชได้หลายชนิด ตามลักษณะภูมิอากาศ เช่น มันฝรั่ง ฮอลลูโก กวีนัว กีวีชา ฟักทอง ฝ้ายพริก ข้าวโพด ฯลฯ
            ในยุคเปรูโบราณ ลามา อัลปาก้า และวิกูญา เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ สัตว์เหล่านี้ให้เส้นใยสำหรับเสื้อผ้าอันอบอุ่น เนื้อสัตว์สำหรับประกอบอาหาร หนังและกระดูกสำหรับทำเครื่องมือต่าง ๆ หยดน้ำมันสำหรับให้ความร้อนและพลังงาน และทำให้ผู้คนขนส่งสินค้าไปในระยะไกล ๆ ได้ 
            เมื่อ 7,000 ปีก่อนคริสตศักราช สัตว์เหล่านี้ทำให้คนสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่เปราะบางที่สุดของเทือกเขาแอนดีส ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 4,200 เมตร 
            ที่ซึ่งยากแก่การทำสวนไร่นาและชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นกับการเคลื่อนที่ไปมา ทำให้เข้าถึงระบบนิเวศวิทยาที่หลากหลาย พร้อมทั้งแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐศาสตร์ที่เติมให้สมบูรณ์ 
            ขณะที่วัฒนธรรมภาคพื้นค่อยๆ รวมตัวเข้าด้วยกัน เทคนิคใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมา เช่น การทอเส้นใย การทำโลหะผสมและการทำอัญมณี ทำให้วัฒนธรรมระดับสูงเกิดขึ้น เช่น
ชาแวง ( 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช ) ,
พารากัส ( 700 ปีก่อนคริสตศักราช ) ,
โมช ( 100 ปีหลังคริสตศักราช ),
นาซก้า ( 300 ปีหลังคริสตศักราช ),
วารี ( 600 ปีหลังคริสศักราช ),
ชิมู ( 700 ปีหลังคริสตศักราช ),
ชาชาโปยาส ( 800 ปีหลังคริสตศักราช )
และอาณาจักรอินคา 1,500 ปีหลังคริสตศักราช
            ชาวอินคาบูชาเทพเจ้าแห่งผืนดินปาชามามาและเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์อินติ อำนาจอธิปไตยของชาวอินคาคือ ผู้นำสูงสุดของทาวันทินซูยู (อาณาจักรอินคา) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งซึ่งได้รับตกทอดมาจากอินติ 

            ในยุคที่เฟื่องฟูสูงสุดชาวอินคาได้สร้างงานทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่น่าประทับใจ ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดที่สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบันนี้คือซากเมืองคุชโก เมืองหลวงของอาณาจักรอินคาแห่งนี้และพื้นที่รอบ ๆ เช่น ป้อมซัคเซย์วาแมน และป้อมมาชูปิกชู
            เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส Christopher Columbus ชาวอิตาเลียน เดินทางสำรวจพบทวีปอเมริกา ใน ค.ศ. 1492 แล้ว ชาวยุโรปก็สนใจที่จะแล่นเรือมาทางทิศตะวันตกเพิ่มมากขึ้น 
            ในปี ค.ศ. 1499 นักเดินเรือชาวอิตาลียน ชื่อ อเมริโก เวสปุกชี Americo Vespucci เดินทางสำรวจให้กับสเปน ได้แล่นเรือสำรวจชายฝั่งประเทศเวเนสุเอลา ทะเลสาบมาราไคโบ 
            พบเห็นบ้านเรือนของชนพื้นเมืองก่อตั้งอยู่ริมน้ำ คล้ายหมู่บ้านของชาวเวนิส จึงเรียกดินแดนที่เขาพบนี้ว่า เวเนสุเอลา ซึ่งหมายถึง เวนิสน้อย 

            ในปี ค.ศ. 1500 นักเดินเรือชาวโปรตุเกส ชื่อ เปโดร อัลวาเรส คาบรัล Pedro Alvares Cabral ได้แล่นเรือสำรวจชายฝั่งทางด้านตะวันออกของประเทศบราซิล 
            หลังจากนั้นชาวโปรตุเกสก็เข้ายึดครองทางด้านตะวันออกของทวีป ส่วนสเปนก็เข้าสำรวจทางด้านตะวันตกจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่การก่อตั้งอาณานิคมของชาวสเปนหลายแห่ง

            เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1492 โคลัมบัสได้รับการแต่งตั้งจาก พระนางเจ้าอีสเบลลา แห่งสเปน ให้เป็นผู้สำเร็จราชการครอบครองหมู่เกาะอินดิสตะวันตก
ค.ศ. 1519 เฮอร์นาน คอร์เตส Hernan Cortes ได้พิชิตอาณาจักรแอชเต็ก ในเม็กซิโก
            ค.ศ. 1531 ฟรานซีสโก ปิซาโร Francisco Pizarro เข้าสำรวจพบอาณาจักรอินคา และทำสงครามกับชาวอินคา นาน 5 ปีสามารถปราบอาณาจักรอินคาได้
            ค.ศ. 1541 เปโดร เดอ วัลดิเวีย Pedro de Valdivia นำทหารสเปนเข้าครอบครอง ดินแดนชิลีได้สำเร็จ

            ดินแดนส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ตกเป็นอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกส ยกเว้น 
กายอานาและฟอร์กแลนด์ เป็นของสหราชอาณาจักร
เฟรนซ์กิอานา เป็นของฝรั่งเศส
สุรินาเม เป็นของเนเธอร์แลนด์

การประกาศเอกราชของประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้

            ด้วยเหตุที่อาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือได้ประกาศเอกราช ตั้งเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา 
            จึงเป็นตัวอย่างที่ชาวอาณานิคมในทวีปอเมริกาใต้ต้องการเอกราช โดยเริ่มจากชาวอาณานิคมในเมืองคารากัส ได้ก่อการกบฏขึ้นในปี ค.ศ. 1810 ขับไล่แม่ทัพของสเปน ออกไป และตั้งคณะกรรมการขึ้นปกครองตนเอง 
            โดยมีผู้นำในอาณานิคมหลายคน ที่ต้องการปลดปล่อยอาณานิคมในทวีปอเมริกาใต้ให้เป็นอิสระ เช่น
            ในปี ค.ศ. 1818 โฮเซ เดอ ซาน มาร์ติน Jose de San Martin เป็นผู้นำในการปลดปล่อย ในอาร์เจนตินาและชิลี ให้เป็นเอกราช
            ในปี ค.ศ. 1821 ซิมอน โบลิวาร์ Simon Bolivar เป็นผู้นำในการปลดปล่อย เอกวาดอร์ และเวเนสุเอลา ได้สำเร็จ
            ในปี ค.ศ. 1822 โอรสของกษัตริย์แห่งโปรตุเกส ก็ประกาศบราซิลให้เป็นเอกราช โดยมีพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ ค.ศ. 1889 ทหารเข้ายึดอำนาจล้มระบอบกษัตริย์เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ

สัปดาห์ที่8 ทวีปอเมริกาเหนือ

            เป็นทวีปที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากทวีปเอเชียและแอฟริกา ตามลำดับ 
            ประกอบด้วยภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง ซึ่งแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนตามขอบเขตของประเทศ โดยมีแม่น้ำริโอแกรนด์เป็นแนวเขตแดน 
            ภูมิภาคอเมริกาเหนือมีเพียง 3 ประเทศ คือ ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา ประเทศเม็กซิโก ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ 
            ส่วนอเมริกากลางใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก ประกอบด้วยประเทศทั้งใหญ่และเล็ก รวมถึงประเทศที่เป็นหมู่เกาะจำนวน 21 ประเทศ 
            โดยกรีนแลนด์เป็นประเทศอยู่เหนือที่สุด และประเทศปานามาอยู่ใต้สุด มีพรมแดนติดกับทวีปอเมริกาใต้ 
            สภาพโดยรวมแล้วประชากรในอเมริกาเหนือมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าอเมริกากลาง 
            ทวีปอเมริกาเหนือได้แก่พื้นที่ตอนเหนือทั้งหมดของดินแดนที่เรียกว่า โลกใหม่ ซีกโลกตะวันตก หรือ ทวีปอเมริกา 
            อเมริกาเหนือมีส่วนเชื่อมต่อกับทวีปอเมริกาใต้บริเวณคอคอดปานามา ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าอเมริกาเหนือไม่ได้เริ่มจากคอคอดปานามา แต่เริ่มจากคอคอดเตวานเตเปก (Tehuantepec) ในประเทศเม็กซิโก ซึ่งอยู่ในอเมริกากลาง

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

            คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ชาวเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ได้รับอาสาพระนางอิสเบลลา แห่งสเปน เดินเรือสำรวจมหาสมุทรแอตแลนติก 
            เพื่อค้นหาเส้นทางไปยังทวีปเอเชีย เขาเดินทางมาพบทวีปอเมริกาเหนือ ในปี พ.ศ.2035 และเดินทางมาสำรวจอีก 3 ครั้ง ในเวลาต่อมา
            โดยเข้าใจว่า ดินแดนที่พบนี้คือทวีปเอเชีย ต่อมา อเมริโก เวสปุคชี ชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ได้เดินทางมายังดินแดนนี้ตามเส้นทางของโคลัมบัส เพื่อสำรวจให้กับสเปนและโปรตุเกส รวม 4 ครั้ง 
            ในปี พุทธศักราช 2040, 2042, 2044 และ 2046 รายงานของเขาถูกตีพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ชาวยุโรปทราบเรื่องราวทวีปใหม่ดีขึ้น และตั้งชื่อทวีปใหม่ว่า “อเมริกา” เพื่อเป็นเกียรติแก่ อเมริโก เวสปุคชี 
            พวกที่เดินทางสู่อเมริกา โดยเรือขนาดเล็ก ต่างเบียดเสียดกันอย่างแสนสาหัส ตลอดเวลาการเดินทาง 16 สัปดาห์ 
            ยังชีพด้วยการแบ่งปันส่วนอาหาร หลายครั้งที่ถูกพายุพัดเสียหาย ผู้คนล้มป่วยและตายลงเป็นจำนวนมาก เด็กทารกนั้นยากนักที่จะมีชีวิตรอดได้
            ภาพแผ่นดินใหม ่ที่ชาวอาณานิคมได้เห็นคือ ภาพป่าทืบอุดมสมบูรณ์ ด้วยพันธุ์ไม้ อันหมายถึงว่า จะมีฟืน ไม้สำหรับต่อเรือ ปลูกบ้าน ทำสีย้อมผ้า ตลอดจนเครื่องใช้ ต่างๆ อย่างพร้อมสรรพ 
            ดินแดนที่ถูกค้นพบใหม่ ได้มีการแย่งชิงกันหลายชาติ ชาวสเปนครอบครองอาณานิคมในเขตอเมริกากลาง อเมริกาใต้และหมู่เกาะอินดีสตะวันตก อังกฤษสามารถก่อตั้งอาณานิคมบริเวณรอบๆ อ่าวฮัดสัน และชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ทางทิศตะวันออกของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
            ส่วนตอนกลางของอ่าวเม็กซิโกขึ้นไป ตลอดลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี ทะเลสาบทั้ง 5 และชายฝั่งตะวันออกของแคนาดา เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
            มูลเหตุที่ชักจูงให้ผู้คนอพยพมาสู่ทวีปอเมริกา คือความปรารถนาในการสร้างฐานะ ความอยากที่จะเผชิญโชค ความใฝ่ฝันที่จะมีเสรีภาพทางการเมืองและการนับถือศาสนา
            ต่อมาอังกฤษทำสงครามกับฝรั่งเศสในทวีปยุโรป ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายแพ้สงคราม จึงต้องเสียอาณานิคมในอเมริกาให้กับอังกฤษ ทำให้อาณานิคมของอังกฤษขยายออกไป พร้อมกับการขยายตัวทางวัฒนธรรมเป็นเงาตามตัว
            ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับชาวอาณานิคมได้เกิดขึ้นเนื่องจากนโยบายการคลังของอังกฤษเรียกเก็บภาษีในรูปแบบต่าง ๆ จากชาวอาณานิคม 
            เช่น พ.ร.บ. น้ำตาล พ.ศ.2307 ให้เก็บสินค้าน้ำตาลที่ไม่ได้ส่งมาจาก อังกฤษ พ.ร.บ. แสตมป์ พ..ศ. 2308 ให้ปิดแสตมป์สิ่งพิมพ์ทุกชนิด ภาษีที่รัฐบาลอังกฤษเรียกเก็บสูงขึ้นเรื่อยๆ 
            จนชาวอาณานิคมเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม และแล้ว ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2316 ณ เมืองบอสตัน 
            ชาวอาณานิคม กลุ่มหนึ่งได้ปลอมตัวเป็นชาวอินเดียนแดงลงไปในเรือบรรทุกสินค้าของอังกฤษ แล้วขนหีบหอใบชาโยนทิ้งทะเล เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่า “บอสตัน ที ปาร์ตี” 
            ได้กลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการรวมตัวกัน ของชาวอาณานิคม ต่อต้านรัฐบาลอังกฤษอย่างจริงจัง สงครามการต่อต้านรัฐบาลอังกฤษได้ยืดเยื้อนานถึง 6 ปี 
            มีการสู้รบเกิดขึ้นทุกแห่ง โดยมี ยอร์ช วอชิงตัน เป็นแม่ทัพและแล้วในวันที่ 4 กรกฏาคม พ..ศ. 2319 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศอิสรภาพ ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย
            โดยโทมัส เจฟเฟอสัน เป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ ไม่เพียงแต่เกิดชาติใหม่เท่านั้น แต่เป็นการประกาศให้โลกรู้ถึง ความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ 
            ในระยะแรกมีเพียง 13 รัฐเท่านั้น ที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกด้านมหาสมุทรแอตแลนติก ที่รวมกันเข้าเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา 
            หลังจากนั้นก็ขยายอาณาเขตมุ่งสู่ทิศตะวันตก ซึ่งก็ต้องประสบกับ การต่อต้านจากพวกอินเดียนแดงเผ่าต่าง ๆ ที่เป็นชนพื้นเมืองดั่งเดิมอย่างมาก 
    
            การขยายตัวของสหรัฐอเมริกาไปทางทิศตะวันตก ในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้คือ
            1. โดยการบุกเบิกจับจองที่ดินว่างเปล่า
            2. โดยการซื้อ
2.1 รัฐหลุยเซียนา ซื้อจากฝรั่งเศส 15 ล้านดอลลาร์
2.2 รัฐฟลอริดา ซื้อจากสเปน 5 ล้านดอลลาร์
2.3 แคลิฟอร์เนีย ซื้อจากเม็กซิโก 10 ล้านดอลลาร์
2.4 อลาสก้า ซื้อจากรัสเซีย 7.2 ล้านดอลลาร์
            3 . โดยการผนวกดินแดนคือรัฐฮาวายและเท็กซัส
            4 . โดยการทำสงครามได้แคลิฟอร์เนียและนิวเม็กซิโกจากการรบชนะเม็กซิโก

            หลังจากสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเอกราช ไม่เป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว แคนาดาซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษเหมือนกัน แต่อยู่ใกล้กับสหรัฐอเมริกา 
            ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องอะลุ่มออล่วยให้แคนาดาบ้าง ต่อมาภายหลังได้ให้แคนาดาปกครองตนเอง โดยมีฐานะที่เรียกว่า“ดอมิเนียนแห่งแคนาดา”
            หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว แคนาดาจึงได้รับเอกราช แต่เนื่องจากชาวอาณานิคมในแคนาดา มีความผูกพันกับอังกฤษ รัฐบาลของแคนาดาจึงขออยู่ภายใต้ระบบที่เรียกว่า “ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ” commonwealth
            จะเห็นได้ว่าประเทศในกลุ่มแองโกลอเมริกา ได้สร้างชาติของตนให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาไม่นานนัก ทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 
            แม้จะพยายามสร้างเอกลักษณ์ของตนขึ้นมาเพียงใด ก็ยังคงมีสายใยของความผูกพัน กับประเทศในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ 
            ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่มีร่วมกันเป็นระยะเวลานาน